วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เทคนิคการใช้เหยื่อยาง ตอนที่ 3 การเกี่ยวเหยื่อยาง อย่างมีประสิทธิภาพ

 การเกี่ยวเบ็ดเหยื่อยางที่ได้รับความนิยมและมีประสิทธิภาพสูง
ก่อนอื่นคงต้องบอกก่อนว่าการเกี่ยวแบบนี้เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการเกี่ยวเหยื่อยางเท่านั้น การฝังคมเบ็ดตามแนวยาวของตัวเหยื่อเป็นการเกี่ยวเหยื่อยางขั้นพื้นฐานที่นักตกปลาด้วยเหยื่อยางใช้กันอย่างแพร่หลายครับ ใครเคยใช้จิ้งจกยางคงทราบกันดีว่าการวัดเบ็ดให้ได้ตัวปลานั้นยากเย็นเพียงใด หลายท่านตกใจตอนปลาชาร์ทก็มาก กระตุกเหยื่อหนีก็มี (ผมเป็นบ่อย ๆ ใครเคยบ้างยกมือขึ้น แบบว่าตกใจน่ะ) ทีนี้เรื่องรอให้กลืนไม่กลืน อาจไม่เป็นผลข้างเคียงอีกต่อไปหากเจ้าตัวใต้น้ำงับเข้าตรงคมเบ็ดจังๆ
   



ตามตำราและหลักสูตรตกปลาสมัยก่อนกล่าวว่า ถ้าเกี่ยวเหยื่อจำพวกตัวยาว ๆ เมื่อเกี่ยวเสร็จแล้ว ตัวเหยื่อจะต้องตรง หางพลิ้วไหวได้ดีและคมเบ็ดต้องทะลุทะลวงได้ดีอีกด้วย (คมเบ็ดอยู่ในตัวเหยื่อ) 

จากภาพแรก จะเห็นว่าเหยื่อทั้ง 3 ตัว คมเบ็ดทะลุออกมา นอกตัวเหยื่อ แต่แนบกับตัวเหยื่อ ไม่มีปลายกระดกออกหรือตัวเหยื่องอ จนเสียรูปแบบสำหรับ การสร้างแอ็คชั่น การเกี่ยวแบบนี้ คือแบบที่นิยมใช้มากในปัจจุบันครับ กล่าวถึงลักษณะได้คือ เมื่อเรากดตัวเหยื่อยาง แล้วปล่อยมือ ตัวเหยื่อต้องเด้งกลับมา แนบกับเบ็ดได้ใหม่ เหมือนเดิมครับ หากคมโผล่ออกมาแล้วค้างอยู่ แสดงว่ายังต้องขยับ การฝังคมเบ็ดให้ตัวเหยื่อใหม่ครับ


จากภาพที่สอง(ผมคัดหนอนตัวใสมาให้ดูเพราะจะได้เห็นถึงแนวคมเบ็ดครับ) แสดงถึง การฝังคมเบ็ดเข้าตัวเหยื่อแบบผิดวิธีครับ แบบนี้ได้สภาพตัวเหยื่อที่ตรง แต่คมเบ็ดไม่สามารถทะลุออกมาได้ดี ในขณะที่เราวัดเบ็ดครับ เพราะคมเบ็ดทำมุมขนานกับตัวเหยื่อ เกี่ยวแบบนี้บางทีรอให้ปลากลืน ถึงคอเราวัด ยังหลุดออกมาได้ครับ ต้องระวัง 

ถ้าจะเกี่ยวแบบถูกต้องจริง ๆ แบบคมเบ็ดอยู่ในตัวเหยื่อ มุมคมเบ็ดต้องทะลุทะลวงออกมาได้ดี เมื่อเราลองเอานิ้วมือกดดูครับ 
ภาพต่อมา แบบนี้คมเบ็ดทะลุออกมาได้ดีครับ (ผมอาจเกี่ยวให้ดูเวอร์ไปหน่อย ) แต่เมื่อทะลุแล้วจะเป็นแบบเจ้าตัวล่าง (ในภาพเดียวกัน) ครับ กล่าวคือ เพียงเราใช้นิ้วมือกดเบา ๆ ทะลุปุ๊ป คมเบ็ดก็โผล่มาอย่างที่เห็นครับ เสียทั้งแอ็คชั่น และอาจเสียทั้งปลาเลยครับ แถมอาจเสียเหยื่ออีก เพราะเหยื่อไปติดกับอะไรใต้น้ำครับ 



จากภาพที่ผมบีบตัวเหยื่อ แสดงให้เห็นถึงวิธีทดสอบ เมื่อเกี่ยวเหยื่อเสร็จครับ บีบแล้วต้องเด้งกลับไปเหมือนตอนแรกครับลองฝึกเกี่ยวดูนะครับไม่ยากครับ
อุปสรรคพวกหญ้า วัชพืช พื้นน้ำ ไม่เป็นปัญหามากนักสำหรับการเกี่ยวเหยื่อแบบนี้ ครับ รวมถึงความน่าจะเป็นในการได้ตัวปลามีสูงกว่าแบบอื่นๆ ครับ


เหยื่อยางรุ่นใหม่ ๆ จะทำอินดิเคเตอร์ หรือจุดบอกตำแน่ง สำหรับ ให้คมโผล่ทะลุด้วยครับ (ดุเจ้าตัวเขียวล่างครับ เกี่ยวแบบทะลุออกมา ) และอย่างเจ้าตัวน้ำเงิน ก็มีร่องไว้ซ่อนคมเบ็ดได้สบาย ๆ สำหรับการเกี่ยวแบบคมโผล่ แต่แนบตัวเหยื่อแบบนี้ครับ 

กล่าวทั้งที ก็ต้องบอกให้หมดครับ เหลืออยู่เรื่องครับ คือตำแหน่งการเกี่ยวเหยื่อ คมเบ็ดอยู่ช่วงไหนของตัวเหยื่อดี ปกติถ้าตัวเหยื่อไม่มีจุดบอกตำแหน่งมาให้ ให้แยกได้ดังนี้ครับ 

ถ้าเป็นหนอนหางงอ นิยมเกี่ยวให้คมโผล่ อยู่เกือบโคนหางงอเลยครับ ให้หางพลิ้วได้อย่างเดียวพอ
หนอนตัวยาว ถ้าใช้เบ็ดมีก้านป้องกันสวะ ก็กลางตัวเลยครับ ถ้าเบ็ดตามยาว ก็ดูจุดข้อต่อ หรือปมที่ตัวเหยื่อมีอยู่ครับจุดนั้นคือจุดแยกของแอ็คชั่นที่จะได้รับจากตัวเหยื่อ 

ส่วนพวกเหยื่อบิน มีหาง พริ้วก็เกี่ยวหัว ไม่ก็สอดทั้งตัวครับ (เขียนให้ในบทถัด ๆ ไปครับ ) หนอนทรงค้อน ก็กลางตัวเช่นกันครับ 

ทั้งหมด เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งที่นักตกปลานิยมใช้กัน และได้ผลดีครับ ลองนำมาเป็นพื้นฐาน และปรับใช้ดูครับ แบบไหนได้ผล แบบไหนจะเป็นรูปแบบประจำของแต่ละท่าน คำตอบนั้น ขอให้เพื่อน ๆ นักตกปลาที่ติดตามบทความ เหยื่อยางนี้ ค้นหาดูครับ แล้วจะพบว่า ศาสตร์ของการตกปลานี้ ให้ทั้งแง่คิด และความสนุกสนานครับผม....... 
       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น